วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)


การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นวิธีค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ตามความเป็นจริง โดยพยายามวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์กับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (Insight) จากภาพรวมของหลายมิติ ความหมายนี้จึงตรงกับความหมายของการวิจัยเชิงธรรมชาติ (Naturalistic Research) ซึ่งปล่อยให้สภาพทุกอย่างอยู่ในธรรมชาติ ไม่มีการจัดกระทำ (Manipulate) สิ่งที่เกี่ยวข้องใดๆเลย

วัตถุประสงค์

       การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม (Contextual) ซึ่งปรากฏการณ์ทางสังคมบางประการ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลธรรมดาทั่วไปได้ จึงต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อนำมาอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่นักวิจัยต้องการศึกษา

ลักษณะของข้อมูล

                     การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) มีความต้องการข้อมูลที่รอบด้าน (Holistic) เพื่อเข้าใจบริบทของสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของงานวิจัย ที่ต้องการศึกษาชุมชนหรือสังคมอย่างรอบด้าน มีการเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรมอย่างละเอียด มีการวิเคราะห์ข้อมูลวัฒนธรรมและสังคมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสังคมและวัฒนธรรมทั้งหมด

วิธีการเก็บข้อมูล

         การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลขนาดเล็ก ไม่เน้นการสำรวจจากคนจำนวนมาก เทคนิคการวิจัยไม่แยกขั้นตอนของการเก็บข้อมูลกับการวิเคราะห์ข้อมูลออกจากกัน การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสังเกตและการสัมภาษณ์ นอกจากนี้การเข้าไปอยู่ในชุมชนจะช่วยให้ได้ข้อมูลหลายด้านมากขึ้น

การตั้งสมมติฐานและการทดสอบสมมติฐาน

          ไม่เน้นการตั้งสมมติฐาน แต่ถ้ามีสมมติฐานนั้นก็อาจปรับได้ตลอดเวลา ถ้าข้อมูลที่ได้มานั้นชี้ให้เห็นว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

การทดสอบความแม่นตรงของข้อมูล (Validity) ความเชื่อถือได้ของข้อมูล (Reliability)

         การวิจัยเชิงคุณภาพ จะไม่เน้นการใช้แบบสอบถาม การทดสอบความเชื่อถือได้และความถูกต้องของข้อมูลจะทำโดยนักวิจัยในขณะที่ทำการสัมภาษณ์ โดยดูว่าคำตอบที่ได้มาสอดคล้องกับบริบทของชุมชนและสังคมนั้นๆหรือไม่



ระยะเวลา

ใช้เวลาในการศึกษานานมากทำให้ดูเหมือนได้งานน้อย แต่มีความลึกซึ้ง เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการเก็บข้อมูลการวิจัยเชิงคุณภาพ ต้องวิเคราะห์ข้อมูลในขณะที่เก็บข้อมูลในสนาม เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

ขั้นตอนการวิจัยเชิงคุณภาพ  ประกอบด้วย

      1.) การกำหนดปัญหาในการวิจัย  ปัญหาที่ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพมี  2  ประเภท  ได้แก่  การวิจัยลักษณะทั่วไปของปรากฏการณ์  และการวิจัยลักษณะเฉพาะเจาะจง  เช่น  การวิจัยเพื่อหาสาเหตุ  ปัจจัยกำหนด  กระบวนการ  และผลกระทบ  เป็นต้น  ทั้งนี้การศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้จะต้องเป็นการศึกษาที่มองรอบด้านและคำนึงถึงบริบท (Context) ของปรากฏการณ์นั้น ๆ

      2.) การสำรวจวรรณกรรม ผู้วิจัยต้องสำรวจวรรณกรรมเพื่อทบทวนว่ามีผู้ใดทำวิจัยในหัวข้อที่ศึกษาหรือยัง และสรุปแนวคิดทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และที่เคยมีผู้ใช้มาก่อน เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือนำทางในการกำหนดกรอบแนวคิดกว้าง ๆ

      3.) การเก็บรวบรวมข้อมูล  เป็นการวิจัยเพื่อหาข้อสรุป  หรือตั้งสมมติฐานจากข้อเท็จจริงที่พบจากการวิจัย  ผู้วิจัยมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูลที่จะได้มาจากการสังเกต  จดบันทึก  สัมภาษณ์  และข้อมูลเอกสาร  ดังนั้นผู้วิจัยต้องกำหนดตัวอย่าง  และสนาม(หรือพื้นที่)ของการวิจัยให้ชัดเจน  และต้องรวบรวมข้อมูลที่เป็นบริบทของข้อมูล

      การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวิจัยเชิงคุณภาพ  เพราะผู้วิจัยจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์  และใช้เทคนิคการสังเกตการณ์  การสัมภาษณ์  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดเกี่ยวกับโลกทัศน์  ความรู้สึก  ค่านิยม  ประวัติ  คุณลักษณะ 

      4.) การวิเคราะห์ข้อมูลและเสนอรายงานผลการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพจะใช้วิธีการจำแนกและจัดระบบข้อมูลเพื่อตอบคำถามว่า คืออะไร   เป็นอย่างไร และหาความสัมพันธ์ของข้อมูล แยกแยะเงื่อนไข เพื่อดูสาเหตุ ความสัมพันธ์ กระบวนการเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางสถิติ หรือใช้เพื่อรวบรวมจัดหมวดหมู่

กล่าวโดยสรุปคือ  การวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งหาข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงปริมาณ เน้นการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบ และสรุปต่างๆ มีการใช้เครื่องมือที่มีความเป็นปรนัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเช่น แบบสอบถามแบบทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดลอง เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม

การวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) เป็นการวิจัยที่นักวิจัยจะต้องลงไปศึกษาสังเกต และกลุ่มบุคคลที่ต้องการศึกษาโดยละเอียดทุกด้านในลักษณะเจาะลึก ใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการเป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้การวิเคราะห์เชิงเหตุผลไม่ได้มุ่งเก็บเป็นตัวเลขมาทำการ

แหล่งอ้างอิง : 

      http://www.ripb.ac.th/~intanin/elearn/EKARU/c1classify.htm (August 12, 2005)

      http://school.obec.go.th/sup_br3/r_2.htm (August 12, 2005)

      http://www2.feu.ac.th/acad/mk/articles_detail.php?id=58




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น