วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิชา การสาธารณสุข (Public Health) 3 (3-0-6)

คำอธิบายรายวิชา

             แนวคิดเกี่ยวกับการสาธารณสุขและความสำคัญของงานสาธารณสุข ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานสาธารณสุข การสาธารณสุขในประเทศและต่างประเทศ ระบบสาธารณสุขในประเทศไทย การพัฒนางานสาธารณสุขในประเทศไทย       บทบาทของกระทรวงสาธารณสุข นวัตกรรมสาธารณสุข นโยบายการแก้ปัญหาสาธารณสุขในปัจจุบัน แผนพัฒนาสาธารณสุขของประเทศ แนวคิดเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพ กองทุนสุขภาพ

วัตถุประสงค์ เพื่อ ให้นักศึกษามีความสามารถดังนี้

1. อธิบายถึงแนวคิดและความหมายการสาธารณสุข ได้
2. อธิบายเกี่ยวกับการสาธารณสุขในประเทศและต่างประเทศไทยได้
3. อธิบายถึงทิศทางการพัฒนางานสาธารณสุขกับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขได้
4. อธิบายแผนพัฒนางานสาธารณสุขได้
5. อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดหลักประกันสุขภาพได้
6. อธิบายแนวทางการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของไทยได้
7. นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันและการปฏิบัติงานสาธารณสุขชุมชนได้

เนื้อหา
คำทั่วๆ ไปสำหรับการสาธารณสุข
               สาธารณสุข  หมายถึง ศาสตร์และศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและจัดการสุขภาพทั้งปวงของชุมชนโดยอิงตามการวิเคราะห์ด้านสุขภาพของประชากร คำว่า “สุขภาพนั้นมีนิยามและจัดการในลักษณะต่างๆ กันจากหน่วยงานต่างๆ สำหรับองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานและเฝ้าระวังโรคทั่วโลก ได้นิยามคำว่า สุขภาพ ไว้ว่า "สภาพของการมีชีวิตทางกายภาพ ทางจิตใจ และทางสังคมที่สมบูรณ์ ไม่ใช้เพียงไม่มีโรคภัยหรือความแข็งแรงทางกายเท่านั้น"
การสาธารณสุข (Primary Health Care หรือ PHC หรือ สสม.)
                การสาธารณสุขมูลฐาน หมายถึง การดูแลสุขภาพที่จำเป็นซึ่งจัดให้อย่างทั่งถึงสำหรับทุกคนทุกครอบครัวและในทุกชุมชน โดยการยอมรับและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของทุกคน ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินกำลังของชุมชนและประเทศจะรับได้ นอกจากนั้น การสาธารณสุขมูลฐานยังต้องก่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างระบบบริการสาธารณสุขของประเทศกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรม โดยมีระบบบริการสาธารณสุขเป็นแกนกลาง
                การสาธารณสุขมูลฐาน เป็นกลวิธีทางสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นจากระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีอยู่ในระดับตำบลและหมู่บ้าน ผสมผสานทางด้าน การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพที่ดำเนินการโดยประชาชน โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ด้วยวิธีกการหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นผู้ประสานงาน

ความหมายของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม. )

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
                     อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เราเรียกย่อ ๆ ว่า อสม. นั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการปฏิบัติงานด้วยความเสียสละต่อประชาชนในหมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา อสม. จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับจนครอบคลุมหมู่บ้านในชนบทและชุมชนเมืองกว่า 8 แสนคน แม้ว่าพลังของ อสม. อาจจะดูเล็กน้อยดั่งเม็ดกรวดเม็ดทรายเมื่อยามกระจายอยู่ตามหมู่บ้านและชุมชน ต่าง ๆ แต่เมื่อมีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเป็นชมรมฯ พลังเหล่านี้ก็มีความมั่นคงดั่งภูผา พร้อมที่จะต่อสู้และก้าวนำไปสู่การพัฒนาด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน

ประเภทและจำนวน
                      กระทรวง สาธารณสุขได้กำหนดให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขในงานสาธารณสุขมูลฐานเพียงประเภท เดียว คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งหมายถึง บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านในแต่ละกลุ่มบ้านและได้รับการอบรมตาม หลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
บทบาทหน้าที่สำคัญ
                      ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมสุขภาพอนามัย (Change agents) การสื่อข่าวสารสาธารณสุข การแนะนำเผยแพร่ความรู้ การวางแผน และประสานกิจกรรมพัฒนาสาธารณสุข ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันโรค การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลขั้นต้น โดยใช้ยาและเวชภัณฑ์ตามขอบเขตที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด การส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการ การฟื้นฟูสภาพ และจัดกิจกรรมพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน                      
                                                         
โดยกำหนดจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยเฉลี่ย ดังนี้

พื้นที่ชนบท : อสม. 1 คน ต่อ 8 - 15 หลังคาเรือน
พื้นที่เขตเมือง :                    -  เขตชุมชนหนาแน่น (ชุมชนตลาด) ไม่มี อสม.
                   -  เขตชุมชนแออัด อสม. 1 คน ต่อ 20 - 30 หลังคาเรือน
                   -  เขตชุมชนชานเมือง อสม. 1 คน ต่อ 8 - 15 หลังคาเรือน
                    ดังนั้น ในหมู่บ้าน/ชุมชนหนึ่ง ๆ อาจมีจำนวน อสม. ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนหลังคาเรือนของหมู่บ้าน/ชุมชนนั้น ๆ โดยทั่วไปจะมี อสม. ประมาณ 10 - 20 คนต่อหมู่บ้าน
  
ประวัติสถานบริการสุขภาพด่านแรก (Primary care Unit : PCU)
   ในอดีตได้จำกัดความคำสำหรับ สถานบริการสุขภาพด่านแรก (Primary care Unit : PCU) หรือหน่วยบริการปฐมภูมิ คือ  หรือสถานีอนามัย และมีการพัฒนาระบบริการมาแล้วแต่ยุคสมัยภายใต้การบริการแก่ประชาชนได้แก่ ศูนย์สุขภาพชุมชน (สมัยรัฐบาลทักษิณ) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล : รพ.สต. (สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์)
               เป็นสถานบริการสาธารณสุขระดับต้น (Primary Care) ของกระทรวงสาธารณสุขและเป็นหน่วยงานอยู่ใต้บังคับบัญชาของสาธารณสุขอำเภอ โดยมีคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) เป็นองค์กรประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
              วิวัฒนาการใน พ.ศ. 2456 มีการจัดตั้ง โอสถสภา“ (โอสถศาลา หรือโอสถสถาน) ขึ้นในบางจังหวัดให้เป็นทั้งสถานที่บำบัดโรคและสำนักงานของแพทย์สาธารณสุข ต่อมาใน พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อเป็น สุขศาลาระหว่างที่ยังเป็น สุขศาลาอยู่นั้น ในท้องที่ที่เป็นชุมชนหนาแน่น ราชการส่งแพทย์ไปประจำเพื่อให้บริการแก่ประชาชน สุขศาลาประเภทนี้เรียกว่าเป็น สุขศาลาชั้นหนึ่งส่วน สุขศาลาชั้นสองคือ สุขศาลาที่ไม่มีแพทย์ประจำ เมื่อมีการสถาปนากระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2485 กรมการแพทย์รับโอน สุขศาลาชั้นหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัด และอำเภอใหญ่ ๆ บางแห่งไปปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลอำเภอ บางส่วนเทศบาลรับไปดำเนินการ สุขศาลาชั้นหนึ่ง ที่มิได้โอนไปอยู่กับเทศบาลและมิได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอนามัยซึ่งต่อมา สุขศาลาชั้นหนึ่ง เหล่านี้พัฒนามาเป็น สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ( พ.ศ. 2497 ) เป็น ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท “ ( พ.ศ. 2515 ) เป็น ศูนย์การแพทย์และอนามัย ( พ.ศ. 2517 ) เป็น       โรงพยาบาลอำเภอ “ ( พ.ศ. 2518 ) จนถึงปัจจุบัน สำหรับ สุขศาลาชั้นสอง ส่วนใหญ่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีอนามัยชั้นสอง( พ.ศ. 2495 ) และเป็น สถานีอนามัย “ ( พ.ศ. 2515 ) มาถึงปัจจุบัน ในส่วนของสำนักงานผดุงครรภ์คาดว่า เริ่มในปี พ.ศ. 2497 โดยที่รัฐบาลเห็นสำควรให้การสงเคราะห์แก่มารดาและทารกเพื่อลดอัตราการตายของทารก จึงได้มีการอบรมนักเรียนผดุงครรภ์ ชั้น 2 ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปอยู่ตามท้องที่ตำบลที่ยังไม่มีการสร้างสถานีอนามัย โดยให้ไปตั้งเป็น สำนักงานนางผดุงครรภ์ชั้นสองที่บ้านกำนัน ต่อมามีการสร้างสำนักงานผดุงครรภ์ขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 มีทุนผูกพันให้ผู้บริจาคทรัพย์สร้างสำนักงานผดุงครรภ์ส่งลูกหลานเข้าเรียนผดุงครรภ์ได้ แล้วกลับไปประจำที่สำนักงานผดุงครรภ์นั้น ส่วนแบบที่ 2 เป็นแบบไม่มีทุนผูกพัน ใน พ.ศ. 2525 มีการยกฐานะ สำนักงานผดุงครรภ์ทั้งหมดกว่า 1,400 แห่ง ขึ้นเป็นสถานีอนามัยทำให้มีจำนวนสถานีอนามัยเพิ่มมากในปีดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายการพัฒนาสถานีอนามัย จึงได้จัดทำโครงการ ทศวรรษแห่งการพัฒนาสถานีอนามัยกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ ปี 2535-2544 รวม 10 ปี โดยได้กำหนดสถานีอนามัย เป็น 2 ประเภทคือ สถานีอนามัยทั่วไป และสถานีอนามัยขนาดใหญ่
  วิวัฒนาการสถานีอนามัยจากอดีตถึงปัจจุบัน
      ·       สุขศาลาชั้น 1 สุขศาลาชั้น 2 ก่อน พ.ศ.2485
       ·       สถานีอนามัยชั้น 1 พ.ศ.2497 สถานีอนามัยชั้น 2 พ.ศ.2495
       ·       ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท พ.ศ.2515 สถานีอนามัย พ.ศ.2515
·       ศูนย์การแพทย์และอนามัย พ.ศ.2517

·       โรงพยาบาลอำเภอ พ.ศ.2518

·       โครงการ ทสอ. พ.ศ.2535

·       ศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU.)  สมัยรัฐบาลทักษิณ

·       โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล  พ.ศ.2553
            หมายเหตุ พ.ศ. 2523 มีการจัดตั้งสถานบริการสาธารณสุขชุมชนในหมู่บ้านพื้นที่เป้าหมายเฉพาะแห่งขึ้นกับสถานีอนามัยในตำบลนั้น ๆ
                   สถานีอนามัยทั่วไป  หมายถึง สถานีอนามัยส่วนใหญ่ของประเทศ มีบทบาทและความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น 4 งาน ได้แก่การบริการสาธารณสุขผสมผสาน การสนับสนุนงานสาธารณสุขมูลฐานและพัฒนาชุมชน บริหารงานวิชาการ งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ มีกรอบอัตรากำลังและอาคารบ้านพักตลอดจนครุภัณฑ์ตามที่กำหนด
           สถานีอนามัยขนาดใหญ่ หมายถึง สถานีอนามัยทั่วไปจำนวนหนึ่งซึ่งถูกคัดเลือกให้พัฒนาขึ้นเป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ในโครงการทศวรรษแห่งการพัฒนาสถานีอนามัย ซึ่งมีเป้าหมายจะพิจารณาสถานีอนามัยจำนวนประมาณ 1 ใน 5 ของสถานีอนามัยทั่วประเทศโดยคัดเลือกเลือกจากสถานีอนามัยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของชุมชน ทั้งด้านการคมนาคมสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะทำให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ กว้างขวางกว่าสถานีอนามัยทั่วไป สถานีอนามัยขนาดใหญ่ จะมีบทบาทหน้าที่เช่นเดียวกับสถานีอนามัยทั่วไป แต่จะมีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานบางอย่างสูงกว่า เช่น งานทันตกรรมพื้นฐาน ซึ่งยังไม่มีในสถานีอนามัยทั่วไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงสนับสนุนสถานีอนามัยทั่วไปที่กำหนดเป็นสถานีอนามัยลูกข่ายทั้งในด้านการบริการรับส่งต่อผู้ป่วย การบริหารและวิชาการ
 การเสริมสร้างคุณภาพชีวิต มีปัจจัยพื้นฐานของการมีสุขภาพดี 4 ประการคือ
1. สุขนิสัยและพฤติกรรมสุขภาพ
2. สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม
3. ระบบบริการอนามัย และการสาธารณสุขมูลฐาน
4. พันธุกรรม
ระบบสุขภาพ จะหมายถึง ระบบทั้งมวลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นองค์รวม โดยที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน หรือระดับประเทศ และอาจจะต่อไปเป็นระดับโลก แล้วแต่ว่าเราจะกำหนดขอบเขตว่าเราจะพูดถึงระบบสุขภาพกว้าง/แคบแค่ไหน ทั้งนี้ก็จะรวมถึงปัจจัยที่มีผลนั้นทั้งด้านบุคคล สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม กายภาพ และชีวภาพ รวมถึงปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพอีกด้วย

ระบบบริการสุขภาพ หมายถึง ระบบบริการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพ ทั้งทางด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่เป็นแบบผสมผสาน หรือเฉพาะด้าน เฉพาะเรื่อง ทั้งนี้หากเป็นส่วนที่รัฐจัดขึ้น สนับสนุนให้จัดขึ้น หรืออยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของรัฐ เพื่อประชาชนโดยทั่วไป (เป็นสาธารณะ) ก็จะเรียกในส่วนนั้นว่า บริการสาธารณสุข

การพัฒนาสุขภาพของคนไทย มีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
.......... คน เป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการพัฒนาใดๆ ก็ตามจะต้องมีคนที่อยู่ในชุมชนรวมตัวกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ อาจเริ่มจากคนกลุ่มหนึ่งอาจจะมากหรือน้อยก็ตามซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายต่างกลุ่ม ต่างอาชีพ ต่างฐานะ ต่างความคิด ต่างเพศ ต่างวัย แต่มีจิตใจเดียวกันเพื่อส่วนรวม และมีเป้าหมายร่วมกัน มีการขยายแนวร่วมออกไปเรื่อยๆ
.......... องค์ความรู้ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน จำเป็นต้องมี องค์ความรู้ วิธีการ เทคโนโลยี ภูมิปัญญาและประสบการณ์ จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การถ่ายทอดและการกระจายความรู้ข้อมูลข่าวสารในชุมชน
.......... ทุน เพื่อการพัฒนาสุขภาพ การดำเนินงานพัฒนาสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยทุนที่เป็นตัวเงิน และทุนที่ไม่ใช่ตัวเงินหรือทุนทางสังคมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทุนที่เป็นตัวเงินจะมีความหมายในลักษณะการเงินการคลังด้านสุขภาพและการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อจัดบริการให้กับคนในชุมชนอย่างคุ้มค่า คุ้มเวลาที่ทำงานและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งแต่ละชุมชน สามารถแสวงหาแหล่งทุนได้ทั้งภายในและภายนอกชุมชน และนำมาบริหาร จัดการให้เกิดผลกำไร แล้วนำดอกผลนั้นมาใช้ในการพัฒนาต่อไป
.......... นอกจากองค์ประกอบหลัก 3 ประการแล้ว หัวใจสำคัญของระบบสุขภาพภาคประชาชน คือ การจัดการ (management) 
เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ซึ่งการจัดการในที่นี้ คือ การปฏิบัติการประสานให้เกิดความสมดุลย์ เพื่อการเคลื่อนไหวของปัจจัย คน องค์ความรู้หรือวิธีการทำงาน และทุนเพื่อการพัฒนาสุขภาพ ให้เกิดการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสุขภาพ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของคนในชุมชน ป้องกันและแก้ปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งนี้กิจกรรมการพัฒนาสุขภาพที่ดำเนินโดยชุมชนนั้นขึ้นกับการตัดสินใจของชุมชนว่าจะดำเนินการในเรื่องใด อย่างไร ซึ่งสามารถแสดงเป็นแผนภาพเชิงแนวคิดองค์ประกอบระบบสุขภาพภาคประชาชน ดังแผนภาพ 1

การจัดบริการสาธารณสุขต่าง ๆ ในแต่ละสังคม
             คนในสังคมคือผู้กำหนดนโยบายในสังคม โดยที่อาจจะมีการผสมกลมกลืนค่านิยมเหล่านี้ควบคู่กันไป นอกจากค่านิยมดังกล่าวแล้วการจัดระบบบริการสาธารณสุขยังขึ้นอยู่กับระบบของสังคม และการเมืองในแต่ละประเทศด้วย ซึ่งระบบบริการสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ สามารถ แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทเช่นกันคือ (Milton I. Roemer, 1995)
1. การจัดบริการสาธารณสุขแบบตลาดแข่งขันเสรี (Entrepreneurial Health System) การจัดระบบบริการสาธารณสุขแบบเน้นระบบตลาดแข่งขันเสรีจะมีเอกชนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก การบริการมุ่งการแข่งขันเพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดแก่สถานบริการสาธารณสุข ประชาชนมีเสรีภาพในการใช้บริการอย่างเต็มที่ บริการส่วนใหญ่จะมีคุณภาพสูง เนื่องจากต้องแข่งขันกันในการให้บริการ แต่ในระบบบริการสาธารณสุขแบบนี้ค่าบริการสุขภาพจะมีราคาแพง ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงและมีราคาแพงประเทศที่ใช้ระบบนี้คือ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และเคนยา อันนี้จะเข้าได้กับหลักของเสรีภาพ
2. การจัดระบบบริการสาธารณสุขแบบรัฐสวัสดิการ (Welfare-Oriented Health System) เป็นการจัดบริการสาธารณสุขที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการให้กับประชาชนของตน ทั้งในแบบให้เปล่าและประชาชนมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพส่วนใหญ่จะมาจากภาษีอากรหรือกองทุนด้านสุขภาพอื่น ๆ สถานบริการสาธารณสุขส่วนใหญ่จะเป็นของรัฐหรือองค์กรที่ไม่แสวงกำไร การจัดบริการสาธารณสุขในรูปแบบรัฐสวัสดิการนี้ประชาชนจะมีความเสมอภาคกันในการเข้าถึงสถานบริการแต่เสรีภาพในการเลือกใช้บริการของประชาชนมีน้อยกว่าในระบบตลาดแข่งขันเสรี อันนี้เข้าได้กับหลักเสมอภาคและความเป็นธรรม
3. การจัดระบบบริการสาธารณสุขแบบสังคมนิยม (Socialist Health System) ระบบสังคมนิยมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบวางแผนจากส่วนกลาง (Central planning System) ในระบบนี้รัฐจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกอย่างในสังคม ในทางทฤษฎีแล้วอุปทานของบริการสุขภาพ (Supply of Health Care) จะขึ้นอยู่กับความจำเป็นทางด้านสุขภาพ (Normative needs) ของประชาชน ซึ่งบริการทุกอย่างจะถูกวางแผนมาจากส่วนกลางรัฐเป็นเจ้าของสถานบริการสาธารณสุขทุกประเภท ประชาชนสามารถใช้บริการแบบได้เปล่าตามความจำเป็นทางด้านสุขภาพ ในระบบนี้โดยหลักการแล้วค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะต่ำ เนื่องจากากรประหยัดในขนาด (Economic of scale) แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ที่วางแผนจัดบริการสาธารณสุขคือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งขาดแรงจูงใจ ในการดำเนินงานทำให้ระบบนี้ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพต่ำ ในระบบนี้ประชาชนจะไม่มีเสรีภาพในการใช้บริการ ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ประเทศที่ใช้ระบบแบบนี้คือประเทศคอมมูนิสต์เดิม เช่น สหภาพโซเวียตเดิม คิวบา
4. การจัดบริการสาธารณสุขแบบครอบคลุมทั้งหมด (Comprehensive Health System) การจัดบริการสาธารณสุขแบบครอบคลุมทั้งหมดนี้ รัฐจะมีหน้าที่ในการให้หลักประกันการบริการสาธารณสุขทุกชนิดแก่ประชาชนโดยการจัดบริการครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและครอบคลุมบริการทุกชนิด โดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินแก่สถานบริการสาธารณสุข ประเทศที่ใช้ระบบนี้ เช่น อังกฤษ ศรีลังกา เป็นต้น ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยมีลักษณะบางส่วนที่คล้ายกับระบบของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยที่ประชาชน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของตนเองถึงร้อยละ 60-70 และประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกใช้บริการสาธารณสุขตามฐานะและรายได้ของตนเอง ปัญหาของระบบบริการสาธารณสุขในแบบการแข่งขันเสรี คือ ประชาชนที่ยากจน ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ การแข่งขันนำไปสู่ค่าบริการที่แพงขึ้น มีการให้บริการมากเกินความจำเป็น มีการใช้เทคโนโลยี ที่เกินความจำเป็นในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศจะสูง สำหรับทิศทางการจัดบริการสุขภาพของประเทศไทย มีความพยายามที่จะเน้นไปสู่ระบบรัฐสวัสดิการโดยกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้มีการประกันสุขภาพ โดยสมัครใจมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลอกชนมีการนำเอาธุรกิจด้านโรงพยาบาลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ซึ่งในลักษณะเช่นนี้ไม่มีอยู่ในระบบริการสาธารณสุขของประเทศใด แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เน้นการแข่งขัน แต่โรงพยาบาลที่ไม่ใช่ของรัฐบาลก็ยังคงเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารกำไรอยู่ เช่น ของมูลนิธิ และคริสตจักร แนวคิดการจัดบริการสาธารณสุขระดับสถานีอนามัย
 
แนวคิดเกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณสุขในระดับ "สถานีอนามัย"
                   เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2463 เรียกว่า Primary health centre ต่อมา ในปี พ.ศ. 2473 มีการประชุมกันในยุโรปและกำหนดนิยามของ Rural health centre ว่าเป็นสถานบริการที่ทำหน้าที่ทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและรักษาพยาบาลในสถานที่เดียวกัน แนวคิดของสถานีอนามัยได้กระจายไปทั่วโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปและบางประเทศให้บริการโดยแพทย์ ในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ให้บริการโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (Health auxiliary)การจัดบริการสาธารณสุข สามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น แบ่งตามระดับการให้บริการ ( Level of care) แบ่งตามชนิดของการให้บริการ (Type of care) เป็นต้นการแบ่งตามระดับการให้บริการ
                ระดับการให้บริการ (Level of Care) เช่นเดียวกับการจัดบริการของทั้งประเทศ โดยจัดแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ
1.   การดูแลสุขภาพด้วยตนเองในระดับครอบครัว (Self Care Level) หมายถึง การพัฒนา
ศักยภาพให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเอง รวมถึงการตัดสินใจเลือกปฏิบัติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย แนวโน้มประชาชนมีความตระหนักในการดูแลตนเองด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น  การลดการสูบบุหรี่หรือมีการออกกำลังกาย แต่ขณะเดียวกันการดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยน้อยลง โดยหันไปใช้บริการจากสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนมากขึ้น
 
2.  การบริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health of Care Level : PHC) หมายถึง
การบริการสาธารณสุขที่ ดำเนินการโดยประชาชนด้วยกันเองและสามารถจะทำได้ในระดับชุมชน เป็นงานสาธารณสุขแบบผสมผสานทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพ วิทยาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่ใช้ไม่สูงมากนัก ซึ่งจะเหมาะสมและสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและความต้องการของชุมชน การบริการสาธารณสุขในระดับนี้ ผู้ให้บริการคือ ประชาชนด้วยกันเองและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออาสาสมัครประเภทอื่นที่เป็นประชาชนด้วยกันเองไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ การบริการระดับนี้ จึงใกล้ชิดกับการดูแลรักษาตนเองและบริการสาธารณสุขระดับต้นเป็นอย่างมาก
 
3.  การจัดบริการสุขภาพระดับต้น (Primary Care Level หรือ Primary Medical Care :
PMC) เป็นการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเภทต่างๆ และแพทย์ทั่วไป ลักษณะของระบบบริการสุขภาพระดับต้นของไทย นอกจากในระดับสถานีอนามัยและโรงพยาบาลชุมชนแล้ว จะเป็นลักษณะที่ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และทั้งหมดยังไม่มีลักษณะของการดูแลให้บริการแบบองค์รวมในระดับครัวเรือน นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการระดับต้นที่ดูแลแบบองค์รวมทุกครัวเรือน ในอนาคตอันใกล้คงจะได้เห็นบริการระดับต้นที่เป็นองค์รวมและเข้มแข็งขึ้น บริการสุขภาพระดับต้นในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วยหน่วยบริการดังนี้ คือ
·       สถานีอนามัย (สอ.) เป็นหน่วยบริการสุขภาพระดับตำบลหรือระดับหมู่บ้าน
ทั่วไป ที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด (First Line Health Service) ครอบคลุมประชากรประมาณ 1,000 5,000 คน มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติประจำ คือพนักงานอนามัย ผดุงครรภ์ พยาบาลเทคนิค ปัจจุบันบางแห่งมีทันตาภิบาล พยาบาลวิชาชีพ และนักวิชาการสาธารณสุข บรรจุเข้าทำงานในสถานีอนามัยด้วย การให้บริการจะเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดำเนินการจะอยู่ภายใต้การกำหนดมาตรฐานการนิเทศงาน และการสนับสนุนทางวิชาการจากโรงพยาบาลชุมชน
·       ศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาล, แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลต่างๆ
ทั้งของรัฐและเอกชนทุกระดับ รวมถึงการดำเนินการลักษณะเป็นคลินิกเวชปฏิบัติครอบครัว คลินิกชุมชน ศูนย์แพทย์ชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชนตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนคลินิกเอกชน เป็นการบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป โดยแพทย์และบุคลากรระดับวิชาชีพ
·       ร้านขายยา จัดเป็นบริการระดับต้นอย่างหนึ่ง ซึ่งดำเนินการโดยเภสัชกรหรือ
ผู้ได้รับการอบรมความรู้ด้านยา

4.  การจัดบริการสุขภาพในระดับกลาง (Secondary Care Level หรือ Secondary Medical Care  : SMC) เป็นการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความชำนาญสูงปานกลาง ประกอบด้วยหน่วยบริการทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก ดังนี้
·       โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ให้บริการด้าน
การแพทย์และสาธารณสุขระดับอำเภอ มีเตียงสำหรับผู้ป่วยตั้งแต่ 10 เตียง ไปจนถึง 150 เตียง ครอบคลุมประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป มีแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆปฏิบัติงานประจำ การให้บริการจะเน้นหนักในด้านการรักษาพยาบาลมากกว่าสถานบริการในระดับต้น
·       โรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่อื่นๆของ
รัฐ  โรงพยาบาลทั่วไปเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในระดับจังหวัดหรืออำเภอขนาดใหญ่ มีขนาดและจำนวนเตียงผู้ป่วยตั้งแต่ 200 500 เตียง โรงพยาบาลศูนย์ คือโรงพยาบาลในระดับจังหวัดที่มีขนาดเกิน 500 เตียงขึ้นไป และมีแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ครบถ้วน
·       โรงพยาบาลเอกชน ที่ดำเนินการโดยไม่มุ่งกำไรหรือดำเนินการแบบธุรกิจ มี
แพทย์ปฏิบัติงานประจำหรือมาทำนอกเวลาทำงาน ประชาชนต้องเสียค่าบริการ

5. การจัดบริการสุขภาพระดับสูง (Tertiary Care หรือ Tertiary Medical Care : TMCเป็นการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติงานโดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประกอบด้วยหน่วยบริการ ดังนี้ คือ
·       โรงพยาบาลศูนย์
·       โรงพยาบาลทั่วไป
·       โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐในสังกัดกระทรวงอื่นๆ
·       โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ครบถ้วน
ส่วนมากเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดมากกว่า 100 เตียง
                        การแบ่งระดับสถานบริการออกเป็นระดับต่างๆ นี้ เป็นการแบ่งคร่าวๆ แต่ในทางปฏิบัติตามความเป็นจริงแล้ว สถานบริการระดับสูงก็มักจะมีระดับต้นปนอยู่ด้วยเสมอ  ซึ่งการจัดระดับบริการเพื่อรองรับกับการจัดสถานบริการตาม GIS (Geographic Information System) สำหรับใช้ในการวางแผนและขอสนับสนุนการลงทุนด้านบุคลากร ครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้าง โดยการจัดระดับบริการสาธารณสุขในสังกัดโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการเป็นเครือข่าย (Net Work) ของกระทรวงสาธารณสุข ตามระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ซึ่งแบ่งระดับสถานบริการออกเป็น 6 ระดับ คือ
                        1. หน่วยบริการปฐมภูมิ  ระดับ 1
                        2. โรงพยาบาลชุมชน ระดับ  2.1
                        3. โรงพยาบาลชุมชน ระดับ 2.2
                        4. โรงพยาบาลชุมชน ระดับ 2.3
                        5. โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป  ระดับ 3.1
                        6. โรงพยาบาลระดับ Excellence Center ระดับ 3.2 
สรุปดังภาพ







การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)


การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นวิธีค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ตามความเป็นจริง โดยพยายามวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์กับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (Insight) จากภาพรวมของหลายมิติ ความหมายนี้จึงตรงกับความหมายของการวิจัยเชิงธรรมชาติ (Naturalistic Research) ซึ่งปล่อยให้สภาพทุกอย่างอยู่ในธรรมชาติ ไม่มีการจัดกระทำ (Manipulate) สิ่งที่เกี่ยวข้องใดๆเลย

วัตถุประสงค์

       การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม (Contextual) ซึ่งปรากฏการณ์ทางสังคมบางประการ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลธรรมดาทั่วไปได้ จึงต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อนำมาอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่นักวิจัยต้องการศึกษา

ลักษณะของข้อมูล

                     การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) มีความต้องการข้อมูลที่รอบด้าน (Holistic) เพื่อเข้าใจบริบทของสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของงานวิจัย ที่ต้องการศึกษาชุมชนหรือสังคมอย่างรอบด้าน มีการเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรมอย่างละเอียด มีการวิเคราะห์ข้อมูลวัฒนธรรมและสังคมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสังคมและวัฒนธรรมทั้งหมด

วิธีการเก็บข้อมูล

         การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลขนาดเล็ก ไม่เน้นการสำรวจจากคนจำนวนมาก เทคนิคการวิจัยไม่แยกขั้นตอนของการเก็บข้อมูลกับการวิเคราะห์ข้อมูลออกจากกัน การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสังเกตและการสัมภาษณ์ นอกจากนี้การเข้าไปอยู่ในชุมชนจะช่วยให้ได้ข้อมูลหลายด้านมากขึ้น

การตั้งสมมติฐานและการทดสอบสมมติฐาน

          ไม่เน้นการตั้งสมมติฐาน แต่ถ้ามีสมมติฐานนั้นก็อาจปรับได้ตลอดเวลา ถ้าข้อมูลที่ได้มานั้นชี้ให้เห็นว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

การทดสอบความแม่นตรงของข้อมูล (Validity) ความเชื่อถือได้ของข้อมูล (Reliability)

         การวิจัยเชิงคุณภาพ จะไม่เน้นการใช้แบบสอบถาม การทดสอบความเชื่อถือได้และความถูกต้องของข้อมูลจะทำโดยนักวิจัยในขณะที่ทำการสัมภาษณ์ โดยดูว่าคำตอบที่ได้มาสอดคล้องกับบริบทของชุมชนและสังคมนั้นๆหรือไม่



ระยะเวลา

ใช้เวลาในการศึกษานานมากทำให้ดูเหมือนได้งานน้อย แต่มีความลึกซึ้ง เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการเก็บข้อมูลการวิจัยเชิงคุณภาพ ต้องวิเคราะห์ข้อมูลในขณะที่เก็บข้อมูลในสนาม เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

ขั้นตอนการวิจัยเชิงคุณภาพ  ประกอบด้วย

      1.) การกำหนดปัญหาในการวิจัย  ปัญหาที่ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพมี  2  ประเภท  ได้แก่  การวิจัยลักษณะทั่วไปของปรากฏการณ์  และการวิจัยลักษณะเฉพาะเจาะจง  เช่น  การวิจัยเพื่อหาสาเหตุ  ปัจจัยกำหนด  กระบวนการ  และผลกระทบ  เป็นต้น  ทั้งนี้การศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้จะต้องเป็นการศึกษาที่มองรอบด้านและคำนึงถึงบริบท (Context) ของปรากฏการณ์นั้น ๆ

      2.) การสำรวจวรรณกรรม ผู้วิจัยต้องสำรวจวรรณกรรมเพื่อทบทวนว่ามีผู้ใดทำวิจัยในหัวข้อที่ศึกษาหรือยัง และสรุปแนวคิดทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และที่เคยมีผู้ใช้มาก่อน เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือนำทางในการกำหนดกรอบแนวคิดกว้าง ๆ

      3.) การเก็บรวบรวมข้อมูล  เป็นการวิจัยเพื่อหาข้อสรุป  หรือตั้งสมมติฐานจากข้อเท็จจริงที่พบจากการวิจัย  ผู้วิจัยมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูลที่จะได้มาจากการสังเกต  จดบันทึก  สัมภาษณ์  และข้อมูลเอกสาร  ดังนั้นผู้วิจัยต้องกำหนดตัวอย่าง  และสนาม(หรือพื้นที่)ของการวิจัยให้ชัดเจน  และต้องรวบรวมข้อมูลที่เป็นบริบทของข้อมูล

      การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการวิจัยเชิงคุณภาพ  เพราะผู้วิจัยจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์  และใช้เทคนิคการสังเกตการณ์  การสัมภาษณ์  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดเกี่ยวกับโลกทัศน์  ความรู้สึก  ค่านิยม  ประวัติ  คุณลักษณะ 

      4.) การวิเคราะห์ข้อมูลและเสนอรายงานผลการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพจะใช้วิธีการจำแนกและจัดระบบข้อมูลเพื่อตอบคำถามว่า คืออะไร   เป็นอย่างไร และหาความสัมพันธ์ของข้อมูล แยกแยะเงื่อนไข เพื่อดูสาเหตุ ความสัมพันธ์ กระบวนการเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางสถิติ หรือใช้เพื่อรวบรวมจัดหมวดหมู่

กล่าวโดยสรุปคือ  การวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งหาข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงปริมาณ เน้นการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบ และสรุปต่างๆ มีการใช้เครื่องมือที่มีความเป็นปรนัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเช่น แบบสอบถามแบบทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดลอง เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม

การวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) เป็นการวิจัยที่นักวิจัยจะต้องลงไปศึกษาสังเกต และกลุ่มบุคคลที่ต้องการศึกษาโดยละเอียดทุกด้านในลักษณะเจาะลึก ใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการเป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้การวิเคราะห์เชิงเหตุผลไม่ได้มุ่งเก็บเป็นตัวเลขมาทำการ

แหล่งอ้างอิง : 

      http://www.ripb.ac.th/~intanin/elearn/EKARU/c1classify.htm (August 12, 2005)

      http://school.obec.go.th/sup_br3/r_2.htm (August 12, 2005)

      http://www2.feu.ac.th/acad/mk/articles_detail.php?id=58




การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)



การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เป็นวิธีค้นหาความรู้และความจริง โดยเน้นที่ข้อมูลเชิงตัวเลข การวิจัยเชิงปริมาณจะพยายามออกแบบวิธีการวิจัยให้มีการควบคุมตัวแปรที่ศึกษาต้องจัดเตรียมเครื่องมือรวบรวมข้อมูลให้มีคุณภาพ จัดกระทำสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐาน และใช้วิธีการทางสถิติช่วยวิเคราะห์และประมวลข้อสรุปเพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน (Error) น้อยที่สุด (ศาสตราจารย์เกียรติคุณบุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ : ๒๕๔๙)

วัตถุประสงค์ 

         การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) มีวัตถุประสงค์ที่จะพยายามให้คำอธิบายปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยพยายามใช้แนวที่เรียกว่า ปฎิฐานนิยม (Positivism) การอธิบายปรากฎการณ์จึงเป็นการนำเสนอเชิงตัวเลข ทางสถิติ เช่น ร้อยละของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพึงพอใจ เป็นต้น

ลักษณะของข้อมูล

                     การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของสังคมโดยกำหนดตัวแปรต่างๆเพื่อเก็บข้อมูลสถิติตัวเลข อาจเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ การเสนอภาพรวมจะมี ข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย

วิธีการเก็บข้อมูล

      การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) จะเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจ เน้นการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมาก เพื่อทำการวิเคราะห์และทดสอบทฤษฎีหรือสร้างทฤษฎีและให้ความหมายในเชิงวิชาการมากกว่าการศึกษาแง่มุมของชาวบ้าน

การตั้งสมมติฐานและการทดสอบสมมติฐาน

                   การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ข้อมูลจากการวิจัยเชิงปริมาณจะเหมาะสมกับการทดสอบทฤษฎีด้วยวิธีการแบบอุปนัย (Deductive) แนวปฎิฐานนิยมเป็นหลัก

การทดสอบความแม่นตรงของข้อมูล (Validity) ความเชื่อถือได้ของข้อมูล (Reliability)

       การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ใช้การเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมากด้วยแบบสอบถาม คำถามในแบบสอบถามจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน

ระยะเวลา

       การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถแยกออกจากการเก็บข้อมูลโดยเด็ดขาดได้ การวิเคราะห์ข้อมูลอาจให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เชิงสถิติดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนที่ไปศึกษา





      ขั้นตอนการวิจัยเชิงปริมาณ  ประกอบด้วย

      1.) การเลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำการวิจัย (Research a Topic) ในขั้นตอนแรกผู้วิจัยจะต้องตัดสินใจให้แน่ชัดเสียก่อนว่าจะวิจัยเรื่องอะไร แล้วกำหนดเป็นหัวเรื่องที่จะวิจัย

      2.) การกำหนดปัญหาในการวิจัย (Formulating the Research Problem) เป็นการตั้งปัญหาในเรื่องที่ต้องการวิจัยเพื่อหาคำตอบ หรือเป็นการแจกแจงวัตถุประสงค์ของการศึกษา  โดยต้องกำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน  และเป็นปัญหาที่สามารถหาคำตอบได้

      3.) การสำรวจวรรณกรรม (Extensive Literature Survey) เป็นการทบทวนเอกสารต่างๆแนวคิดทางทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องที่ต้องการศึกษา เพื่อหาแนวคิดทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และสำรวจให้แน่ใจว่าไม่วิจัยซ้ำกับผู้อื่น ทั้งนี้การวิจัยควรเน้นการเสริมสร้างให้เกิดความรู้ใหม่ 

      4.) การตั้งสมมติฐานการวิจัย (Formulating Hypothesis) เป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาในการวิจัย หรือคาดคะเนความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ที่จะศึกษาไว้ล่วงหน้าแล้วจึงหาข้อมูลมาพิสูจน์

      5.) การออกแบบการวิจัย (Research Design) เป็นการวางแผนกำหนดวิธีการในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของปัญหาในการวิจัย เช่นการเก็บข้อมูล การเลือกเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการวิจัย บุคลากรและงบประมาณที่จะใช้

      6.) การเก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) เป็นการวางแผนว่าจะเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร จะใช้ข้อมูลปฐมภูมิ หรือทุติยภูมิ และถ้าเป็นข้อมูลทุติยภูมิควรจะเก็บอย่างไร การสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูล ถ้าเป็นข้อมูลทุติยภูมิจะใช้ข้อมูลจากแหล่งใด

      7.) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จะนำมาบรรณาธิการความถูกต้อง (การตรวจสอบความถูกต้อง) และความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อน จึงทำการประเมินผลและวิเคราะห์ผลที่ได้และพิสูจน์กับสมมติบานที่ตั้งไว้

      8.) การเขียนรายงานผลการวิจัยและจัดพิมพ์เผยแพร่ (Research Report) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัย ผู้วิจัยจะต้องเขียนรายงาน เพื่อให้ผู้อื่นทราบถึงกิจกรรมที่ดำเนินในขั้นตอนต่างๆ และสิ่งที่ค้นพบจากการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยจะต้องเขียนรายงานตามรูปแบบของการเขียนรายงานการวิจัย และเขียนด้วยความซื่อสัตย์ในสิ่งที่ค้นพบ
แหล่งอ้างอิง
http://www.ripb.ac.th/~intanin/elearn/EKARU/c1classify.htm (August 12, 2005)


http://www2.feu.ac.th/acad/mk/articles_detail.php?id=58