วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กรอบแนวคิดและการตั้งสมมติฐานการวิจัย (ต่อ)

สมมติฐานเชิงสถิตินั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

1. สมมติฐานเป็นกลาง (Null hypothesis) เป็นสมมติฐานที่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขหรือข้อตกลงเบื้องต้นที่ยอมรับก่อน มีลักษณะเงื่อนไขที่เท่ากันหรือเป็นกลาง เช่น

Ho : μ1 = μ2

Ho : O1 = O2

2. สมมติฐานไม่เป็นกลางหรือ สมมติฐานทางเลือก (Alternative hypothesis)เป็นสมมติฐานอื่นที่ไม่ใช่สมมติฐานเป็นกลาง ใช้เพื่อรองรับการสรุปผล เมื่อนักวิจัยปฏิเสธสมมติฐานที่เป็นกลาง การเขียนสมมติฐานไม่เป็นกลางนี้ สามารถเขียนได้ 2 ลักษณะคือ

2.1 สมมติฐานที่มีทิศทาง คือสมมติ ฐานที่เขียนแสดงถึง ความสัมพันธ์หรือความแตกต่างของตัวแปรไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางบวกหรือทางลบ เช่น

Hi : μ1 > μ2

Hi : μ1 < μ2

Hi : ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยเสี่ยงเป็นโรคเอดส์มากกว่าผู้ที่สวมถุงยางอนามัย

Hi : ผู้ที่สวมถึงยางอนามัย มีโอกาสเป็นเอดส์น้อยกว่าผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัย

2.2 สมมติฐานทีไม่มีทิศทาง คือ สมมติฐานที่เขียนแสดงถึงความสัมพันธ์หรือความแตกต่างของตัวแปรที่ไม่บอกว่าความสัมพันธ์จะเป็นไปในทิศทางใด เช่น

Hi : μ1 = μ2

Hi : ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยเป็นเอดส์แตกต่างกับผู้ที่สวมถุงยางอนามัย


ข้อแนะนำในการเขียนสมมติฐาน

1. เขียนอยู่ในรูป ประโยคบอกเล่า

2. เขียนหลังจากได้ศึกษา เอกสาร งานวิจัยมามากเพียงพอ

3. เลือกใช้คำหรือข้อความ ที่รัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย

4. มีสมมติฐานให้ครอบคลุม สอด คล้องกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย

5. สมมติฐานแต่ละข้อเขียนเพื่อตอบ คำถามเพียงคำถามเดียว


สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อจะตั้งสมมติฐาน

1. ท่านมีสมมติฐานว่าอย่างไร

2. สมมติฐานนี้มีทางเป็นไปได้ไหม

3. สมมติฐานนั้นกล่าวไว้รัดกุม หรือชัดเจนเพียงใด

4. สมมติฐานนั้นมีทางทดสอบได้หรือไม่

5. สมควรตั้งสมมติฐานเป็นประโยคบอกเล่า หรือเป็นคำถาม

6. มีสมมติฐานที่จะต้องทดสอบจริงๆ เท่าไร

7. สมมติฐานแต่ละข้อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหรือไม่

8. ท่านควรจะตั้งสมมติฐานเชิงเหตุและผล หรือเชิงความสัมพันธ์


ลักษณะของสมมติฐานที่ดี

1. สามารถตรวจสอบได้ ด้วยข้อมูล และหลักฐาน

2. สมเหตุสมผลตามหลักทฤษฎีหรือ ความรู้พื้นฐาน

3. สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการ วิจัย

4.  ใช้ภาษาง่ายสื่อความหมาย

5. สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง


จำนวนสมมติฐาน

โครงการวิจัยหนึ่งอาจมีสมมติฐาน เพียงข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการวิจัยที่ผู้วิจัยกำหนดไว้ ตัวแปรที่ปรากฏในสมมติฐานข้อใด ข้อ

หนึ่งแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นตัวแปรในสมมติฐานข้ออื่นอีกได้ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถเปลี่ยนแปลงสถานภาพของตัวแปรอิสระ เป็นตัวแปรตาม หรือในทางตรงข้ามได้ สมมติฐานทุกข้อจะต้องมุ่งไปในทางที่จะให้ได้มา ซึ่งคำตอบต่อปัญหาการวิจัยตามที่กำหนดไว้ในกรอบแนวคิด


ประโยชน์ในการตั้งสมมติฐาน

การตั้งสมมติฐานมีประโยชน์ต่อการวิจัย ดังต่อไปนี้

1. สมมติฐานช่วยให้ผู้วิจัยมองเห็นปัญหาการวิจัยชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ทำให้มองเห็นว่าปัญหานี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวแปรใดบ้าง และเป็นปัญหาลักษณะใด เป็นต้น

2. สมมติฐานช่วยจำกัดขอบเขตของการวิจัย ทำให้ผู้วิจัยทราบแนวทางที่กำลังวิจัย ทำให้การวิจัยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน คือ ผู้วิจัยจะทำการวิจัยเฉพาะสมมติฐานที่กำหนดไว้เท่านั้น

3. สมมติฐานช่วยให้มองเห็นภาพของข้อมูลต่างๆ และความสัมพันธ์ของข้อมูลที่จะนำมาทดสอบสมมติฐานนั้น

4. สมมติฐานช่วยชี้แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลว่า ควรจะเก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องอะไร แค่ไหน และจะเก็บในลักษณะใด พร้อมทั้งช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและมีคุณภาพ

5. สมมติฐานอาจสามารถบอกให้ทราบถึงการวางแผนรูปแบบของการวิจัย (Research Design) หรือวิธีแก้ปัญหา

6. สมมติฐานช่วยให้ผู้วิจัยเข้าใจตัวแปรที่ศึกษาได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะการกำหนดสมมติฐาน เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาลักษณะและธรรมชาติของตัวแปรให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

7. สมมติฐานช่วยชี้แนวทางในการแปลผล และสรุปผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล หรือเป็นเครื่องมือในการกำหนดโครงร่างหรือแผนงาน (Frame Work) ในการสรุปผลให้แก่ผู้วิจัยนั่นเอง ทั้งนี้เพราะในการแปลผลการวิจัยนั้น จะยึดสมมติฐานเป็นหลัก โดยพิจารณาว่าผลที่ได้นั้นมีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกับสมมติฐานที่กำหนดไว้เพียงใด ซึ่งจะทำให้การแปลผลและสรุปผลง่ายขึ้น


สรุป  สมมติฐานเป็นข้อเสนอเพื่อนำไปทดสอบความแม่นยำและถูกต้อง โดยทดสอบจากประสบการณ์แห่งความจริง สมมติฐานอาจทดสอบว่าผิดหรือถูกก็ได้ สมมติฐานที่ทดสอบว่าผิดมิได้หมายความว่าเป็นสมมติฐานที่ไม่มีประโยชน์ สมมติฐานที่ปฏิเสธ (Reject) อาจจะช่วยแนะนำนักวิจัยให้สนใจข้อเท็จจริง หรือความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงบางอย่างที่ไม่ได้คาดหมายไว้ก็ได้ ดังนั้น สมมติฐานจะบอกให้เราทราบว่า จะค้นหาอะไร เมื่อได้รวบรวมข้อเท็จจริง โดยมีการจัดระเบียบและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ข้อเท็จจริงก็ประกอบกันเป็นทฤษฎี เพราะฉะนั้นทฤษฎีจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ในทางปฏิบัติ ทฤษฎีก็คือสมมติฐานที่ได้ปรับปรุงแล้วนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น