วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การคิดเเละการเลือกหัวข้อวิจัย (ต่อ)

ลักษณะปัญหาที่นักวิจัยสนใจ เช่น

1.              1. เกิดความสงสัยในทฤษฎี ทฤษฎีคือข้อเสนอ (Proposition) ที่เกิดจากการคิดหรือจินตนาการอย่างมีเหตุผลเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ความสงสัยในทฤษฎีอาจเกิดจาก

ก.      ความไม่สอดคล้องภายในทฤษฎี เช่น มีแนวคิด (concept) บางอย่างขัดแย้งกัน ข้อเสนอไม่เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน นักวิจัยจึงต้องทำวิจัยเพื่อทำความเข้าใจกับทฤษฎีนั้นให้กระจ่างยิ่งขึ้น

ข.      ความไม่สอดคล้องกันระหว่างทฤษฎี ปรากฏการณ์อย่างเดียวกันอาจมีทฤษฎีหรือคำอธิบายมากกว่า 1 ทฤษฎีแล้วแต่มีผู้เห็นว่าปรากฏการณ์นั้นควรจะมีคำอธิบายที่เหมาะสมเป็นอย่างไร บางครั้งทฤษฎีเหล่านั้นก็ขัดแย้งกันทำนายปรากฏการณ์เรื่องเดียวกันออกมาแตกต่างกัน ในกรณีเช่นคงต้องมีการหาหลักฐานข้อเท็จจริงมาดูกันให้ชัดเจนว่าทฤษฎีใดถูกทฤษฎีใดผิดหรือว่าผิดทั้งหมด การวิจัยเพื่อตอบข้อสงสัยลักษณะนี้เรียกว่า การทดสอบเพื่อชี้ขาดทฤษฎี (Crucial test)

ค.      ความไม่สอดคล้องระหว่างทฤษฎีกับข้อเท็จจริง เกิดจากการใช้ทฤษฎีทำนายปรากฏการณ์แล้วคำนายนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เหตุการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบให้ทราบแน่ว่าทฤษฎีมีความบกพร่องอย่างไร การวิจัยเพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยประเภทนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขทฤษฎีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ง.       ความสงสัยว่าทฤษฎีนั้นจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไปได้หรือไม่ ความสงสัยในทฤษฎีแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ เพราะทฤษฎีทางสังคมศาสตร์มักจะสร้างขึ้นเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมในสังคมใดสังคมหนึ่ง ความสงสัยจึงเกิดขึ้นว่าทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ในสังคมหนึ่งได้ คือมีหลักฐานข้อเท็จจริงในสังคมนั้นยืนยันทฤษฎีอย่างเพียงพอ ทฤษฎีนั้นจะนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ในสังคมอื่นๆ ได้หรือไม่ จำเป็นต้องหาหลักฐานข้อเท็จจริงจากสังคมอื่นๆ มายืนยัน

2. เกิดจากความขัดแย้งในข้อค้นพบ ในหัวข้อปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจมีผู้สงสัยในประเด็นต่างๆ ได้หลากหลายและได้มีผู้ทำวิจัยหาคำตอบเอาไว้ แต่แทนที่คำตอบเหล่านั้นจะสอดคล้องสนับสนุนกันกลับข้ดแย้งไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าคำตอบที่แน่นอนควรจะเป็นอย่างไร

3. เกิดจากความขัดแย้งกันในความคิดเห็นหาข้อยุติไม่ได้ ในแวดวงวิชาการหรือสังคมทั่วไปย่อมมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความคิดเห็นเหล่านั้นเกิดไม่ลงรอยกันและต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตน แต่ส่วนใหญ่แล้วเหตุผลที่นำมาสนับสนุนก็มักเกิดจากการคิดหรือจินตนาการเอก นักวิจัยอาจจะเกิดความสงสัยว่าความเห็นของฝ่ายใดจะน่าเชื่อถือกว่ากันจำเป็นต้องหาหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์มายืนยันเพื่อที่จะหาข้อยุติ

4. เกิดจากความขัดข้องในการปฏิบัติงาน เช่น การทำงานมีปัญหาอุปสรรค ทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ต้องการจะพัฒนาปรับปรุงการทำงาน การแก้ปัญหาการปฏิบัติงานเหล่านี้จำเป็นต้องมีสารสนเทศมาช่วยในการตัดสินใจแก้ปัญหาหรือดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ จะต้องค้นหาความรู้ที่จะใช้เป็นข้อสารสนเทศประกอบการตัดสินใจ

5. เกิดความสงสัยว่าข้อค้นพบที่ผ่านมานั้นยังจะคงจริงเช่นนั้นอีกหรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องหาคำตอบให้แน่ชัดด้วยการหาหลักฐานข้อมูลใหม่มาพิจารณาอีกครั้ง

6. เกิดความสงสัยในวิธีการได้มาซึ่งข้อความจากการวิจัยที่ทำมาแล้ว อาจจะต้องตรวจสอบด้วยวิธีการใหม่ซึ่งได้แก้ไขข้อผิดพลาดของวิธีการเก่าแล้ว หรือมีเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น